
โปรแกรมแชทได้เกิดขึ้นมาพร้อมกับการเติบโตของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เริ่มต้นจากโปรแกรมยอดฮิตที่หลายคนคงเคยใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น PIRCH98 เกิดมาพร้อม ๆ กับในยุคแรกของเว็บบอร์ดพันทิพย์, ICQ มีเสียงเป็นเอกลักษณ์คือ “โอ๊ะโอว” รวมไปถึง MSN Messenger โดยปัจจุบันทางไมโครซอฟท์ได้เปลี่ยนมาเป็น Skype หลังจากที่ได้ซื้อ Skype โปรแกรมที่ใช้โทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ตจากประเทศลักเซมเบิร์ก มาในมูลค่า 8.5 พันล้าดอลลาห์สหรัฐ ซึ่งเป็นดีลที่สร้างความฮือฮามากในตลาดไอทีในช่วงปี 2011
พัฒนาการของการส่งข้อความหากัน ในช่วงปี 1997-2007 มักจะอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยโปรแกรมต่าง ๆ เป็นหลัก จนในปี 2007 สตีฟ จ๊อปส์ ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ออกผลิตภัณฑ์ iPhone รุ่นแรกที่เป็น Smartphone เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารทั้งข้อมูล ภาพ และเสียง การมาของสมาร์ตโฟน นี่เองทำให้ disrupt รูปแบบการส่งข้อมูลหลาย ๆ อย่างเช่น SMS ที่เราเคยส่งผ่านโทรศัพท์มือถือเดิม รวมไปถึงโปรแกรมส่งข้อมูลที่อยู่บนคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
การส่งข้อมูลโดยเฉพาะข้อความ (Instant messaging) เป็นการส่งแบบเรียลไทม์ผ่านอินเทอร์เน็ต นับตั้งแต่การปรากฏตัวของสมาร์ตโฟนและการเพิ่มขึ้นของแอปพลิเคชันบนมือถือ มีหลายต่อหลายแอปฯ ที่เปิดตัวออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยแอปฯ ที่ใช้สำหรับแชทและเล่นโซเชียลมีเดียฟรีได้พิสูจน์ตัวเองว่าเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่าการส่งข้อความตัวอักษรผ่านผู้ให้บริการแบบเดิม ๆ อย่าง SMS ที่เราใช้กันมาเนิ่นนาน แอปฯ การส่งข้อมูล การแชท (Messenger Application) ส่วนใหญ่จะมีฟีเจอร์ต่าง ๆ เช่น การแชทเป็นกลุ่ม, ออดิโอคอล, วิดีโอคอล, ข้อความเสียง, ตลอดจนสติกเกอร์หรืออีโมจิต่าง ๆ
จากสถิติในเดือนเมษายนปี 2021 มีผู้ใช้ถึง 2พันล้านคนที่ใช้งาน WhatsApp Messenger ทุก ๆ เดือน (Active Users) คิดเป็น 25% ของประชากรในโลกทั้งหมดเลยทีเดียว (ประชากรโลกประมาณ 7.8 พันล้านคน อ้างอิงจำนวนประชากรจาก https://www.worldometers.info/th) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดทวีปยุโรป, แอฟริกา, อเมริกาใต้ และอินเดีย และยังเป็นหนึ่งในแอปโซเชียลบนมือถือที่ได้รับความนิยมมากที่สุดทั่วโลก ยอดดาวน์โหลดมหาศาลเป็นอันดับต้น ๆ เช่นกัน โดยโซเชียลเน็ตเวิร์กรายใหญ่ของโลกอย่าง Facebook ได้ซื้อ WhatsApp ด้วยมูลค่า 19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนกุมภาพันธ์ 2014 ซึ่งมีมูลค่าที่มากกว่าการที่ไมโครซอฟท์ซื้อ Skype กว่า 2 เท่าเลยทีเดียว
แอปฯ ที่ตามมาติด ๆ อย่าง Facebook Messenger ซึ่งก็เป็นแอปฯ ที่ใช้สำหรับการพูดคุยกับเพื่อนของเราซึ่งต้องบอกว่าเป็นเพื่อนที่สนิทกว่าบน WhatsApp แน่นอน เพราะส่วนใหญ่จะมาจากเพื่อนที่อยู่บน Facebook ของเราเอง ต่างจาก WhatsApp ที่ใช้คุยกันในการทำงานซะส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามทั้ง WhatsApp และ Facebook Messenger ต่างก็มีเจ้าของคือมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก แห่งเฟสบุคนั่นเอง
ส่วนแอปฯ ที่ครองตลาดในจีนก็จะเป็น WeChat (Weixin) และ QQ ของค่าย Tencent ซึ่งเจ้าของคืออีก Ma อีกคนนึงของจีน นอกเหนือจาก Jack Ma แห่ง Alibaba เค้าคือ Pony Ma การที่ Facebook Messenger ไม่สามารถเข้าถึงคนจีนได้ อันเนื่องมาจากติดข้อกฎหมายของจีน ทำให้แอปฯ สัญชาติจีนมีการใช้อย่างแพร่หลายทั่วทั้งประเทศ
เป็นที่น่าแปลกใจอย่าง LINE ที่คนไทย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไต้หวัน ที่ใช้กันเยอะ ไม่ติดอยู่ในชาร์ตของ Statista ใน 6 ลำดับแรกเลย แต่ Line ก็ยังเป็นแอปฯ ที่แพร่หลายของคนไทย ในทุก ๆ สมาร์ตโฟนจะมีแอปฯ นี้อยู่บนหน้าจอ ส่วนตัวผู้เขียนเองใช้ LINE เป็นแอปฯ มากที่สุดที่เปิดในแต่ละวัน โดยดูจาก Activity ที่แสดงคิดเป็น 1 ใน 3 ของแอปฯ ทั้งหมดเลยทีเดียว
และนี่ก็คือแอปฯ ทั้งหมดที่เรารวบรวมและนำมาเล่าให้ฟัง หากท่านเห็นว่ามีประโยชน์ น่าสนใจ ช่วยกันกด Like กด Share ให้พวกเราด้วยนะครับ ขอบคุณมากครับ 🙂