วันนี้ผมจะมาเขียนบทความเล่าถึงเรื่องอุปกรณ์ Video Conference ซึ่งเป็นระบบการติดต่อสื่อสารผ่านทางโครงข่ายคอมพิวเตอร์ประเภทหนึ่ง ที่สามารถรับ-ส่งข้อมูลภาพและเสียง รวมไปถึงเอกสารที่นำเสนอได้ พูดง่ายๆ ก็คือระบบประชุมทางไกลที่เสมือนอยู่ในห้องเดียวกันจริงๆ และสามารถแชร์ข้อมูลทั้ง Video, Voice และ Data ในรูปแบบ Real Time ผ่านทาง IP หรือ ISDN ได้ ประโยชน์ก็คือช่วยลดต้นทุนค่าเดินทางของผู้ประชุม, ลดค่าเสียเวลา, ลดค่า Man Day ในการทำงานนอกสถานที่, ฟิลลิ่ง (Feeling) ที่ได้ในการประชุมเสมือนอยู่ในห้องเดียวกัน เห็นหน้าเห็นตากัน ถ่ายทอดความรู้สึกกันได้ดีกว่าเสียงธรรมดาแน่นอน
ย้อนกลับไปประมาณ 3-5 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เรายังใช้การสื่อสารผ่านทางเสียง หรือในระบบ GSM ของ Operator ต่าง ๆ ในเมืองไทย เช่น AIS, DTAC, True, CAT, TOT เป็นต้น แต่ในปัจจุบัน เมื่อ 3G, 4G รวมไปถึงเครือข่าย Broadband ในเมืองไทยเติบโตขึ้น สิ่งที่สวนทางกันคือราคาถูกลงเมื่อเทียบกับ Speed Bandwidth ที่ได้รับ จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีการสื่อสารในระบบภาพและเสียงจึงเริ่มเป็นที่นิยม และชื่นชอบของหลาย ๆ คน อีกส่วนหนึ่งก็มาจากการขยายตลาดของ Smart Phone, Tablet เราสามารถใช้อุปกรณ์เหล่านี้ ทำการติดต่อสื่อสารในรูปแบบภาพและเสียงได้ผ่านทาง Application ที่ถูกติดตั้งไว้ เช่น Skype, Line, FaceTime, Facebook Live, Camfrog, Tango และอื่นๆ เป็นต้น
หากเป็นอุปกรณ์ Video Conference ในตลาด Enterprise ซึ่งไม่จำเป็นต้องผ่าน Cloud เหมือน Application ในอุปกรณ์ Smart Device ต่าง ๆ ก็จะมียี่ห้อที่แข่งขันกันในตลาด TelePresence ดังต่อไปนี้
1.Cisco Systems
2.Polycom
3.Vidyo
4.LifeSize
5.Radvision
โดยในบทความนี้ผมจะเน้นไปที่อุปกรณ์ของ Cisco ซึ่งเป็นยี่ห้อที่เป็นผู้นำในตลาดด้านนี้มานานหลายปี ดูจากภาพด้านล่าง อ้างอิงของทาง Gartner โดย Leader ที่อยู่มุมบนขวาสูงสุดก็คือ Cisco นั่นเอง
Cisco เริ่มต้นเทคโนโลยีในการสื่อสารทางไกลโดยอุปกรณ์ที่ใช้เสียงเพียงอย่างเดียว (Conference Call) ผ่านทาง IP PBX (Cisco CallManager) และ Endpoint ที่เป็น IP Conference Phone รูปร่างคล้ายปลาดาว ก่อนที่จะขยับทำการซื้อ WebEx ในเดือนมีนาคมปี 2007 เพื่อที่จะรองรับตลาด On-demand Collaboration Application ใน SMB Segment โดย WebEx เป็น Web Conferencing ซึ่งผู้ใช้งานจะต้องซื้อ WebEx Cloud License เป็นจำนวนปีได้ การใช้งานสามารถใช้ Data Conference, แชร์เอกสาร รวมไปถึงสามารถ Chat ระหว่างผู้ประชุม และทำการบันทึกการประชุมทั้งหมดได้ จนกลายเป็น Web Conference ที่มีส่วนแบ่งการตลาดที่มากที่สุด ณ ปัจจุบัน ในเดือนกันยายน ปี 2008 บริษัท Cisco ได้ทำการซื้อกิจการบริษัท Jabber ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำ Software ในด้านของ Presence และ Messaging ทำให้ Cisco เริ่มมี Solution ที่เป็น on-premise (ติดตั้งใน Site ของผู้ซื้อใช้งานเอง) และ on-demand ในหลาย ๆ Platform และสามารถเชื่อมต่อเข้ากับ WebEx Connect และ Cisco Unified Communication Manager หรือ Cisco CallManager ได้นั่นเอง ในเดือนตุลาคมปี 2009 Cisco ได้มี Big Deal ซื้อผู้นำกิจการอุปกรณ์ Video Communication อย่างบริษัท Tandberg จากประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นที่ฮือฮา กันในวงการ IT ทั่วโลกเป็นอย่างมาก จากดิวนี้จึงทำให้ Cisco มีอุปกรณ์ World-Class Video Endpoint รวมไปถึง Video Infrastructure ทั้งหมด และยังมีผลให้ Cisco สามารถขยายตลาดรวมไปถึง Collaboration Portfolio ให้กับทางลูกค้าได้อีกมหาศาล
อุปกรณ์ของ Cisco Tandberg ได้ใช้งานกันอย่างแพร่หลายในเมืองไทยในหลาย ๆ องค์กร ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ซึ่งใน Infrastructure แต่ละอุปกรณ์มีชื่อเรียกที่ดูแล้วใกล้เคียงกันและค่อนข้างปวดหัวสำหรับคนมือใหม่ที่เพิ่งเข้ามาใช้งานใน Collaboration Solution โดยที่ Cisco เองได้ทำการเปลี่ยนชื่อ Solution นี้ว่า Cisco TelePresence Solution ซึ่งมีอุปกรณ์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1.Cisco TelePresence Server (TPS) เป็นอุปกรณ์ MCU (Multipoint Control Unit) ที่ทำหน้าที่รวบรวม ประมวลผลการประชุมที่มากกว่า 2 Site ขึ้นไป TPS จะรวมสัญญาณภาพ เสียง และ Presentation ส่งไปยังอุปกรณ์ปลายทางทุกจุดพร้อม ๆ กัน ตามรูปก็จะเป็น Hardware ของ Cisco ที่ชื่อว่า MM410v นั่นเอง
2.Cisco TelePresence Conductor (TPC) หากใน site เรามีอุปกรณ์ MCU (TPS) มากกว่า 1 ตัวแล้ว อุปกรณ์ TPC จะเป็นอุปกรณ์ที่นำไปจัดการครอบตัว TPS อีกที พูดถึง Conductor แล้วเราจะนึกถึงวงดนตรีออเครสตร้าขนาดใหญ่ และมีคนกำกับ ควบคุม วงดนตรีให้มีความหนักเบา ของแต่ละอุปกรณ์เช่น ท่อนนี้ให้ไวโอลินดังขึ้น ท่อนนี้ให้เชลโล่เด่นขึ้นมา เช่นกัน TPC ก็เป็น Conductor ตัวนึงซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุม MCU ที่มีมากกว่า 1 ตัวขึ้นไป ให้สามารถทำงานแบบ Cascade กันได้
3.Cisco TelePresence Management Suite (TMS) เป็นอุปกรณ์ Centralize Management Platform ในการบริหารจัดการ Video Network ภายในองค์กรทั้งหมด และ Monitor อุปกรณ์ Video Endpoint, TelePresence Server ต่าง ๆ ที่ทำการ Add เข้ามาใน TMS รวมไปถึงความสามารถในการนัดหมายการประชุมล่วงหน้าผ่านทางระบบนี้ได้ อีกทั้งสามารถดู CDR (Call Detail Record) ของ Endpoint, TPS ในองค์กรได้อีกด้วย
4.Cisco TelePresence Content Server (TCS) เป็นอุปกรณ์ที่ไว้สำหรับบันทึกการประชุมทั้งหมด รวมไปถึงสามารถส่งไป Live สดการประชุมให้กับ คนอื่น ๆ ที่สามารถเรียกเข้ามาดูผ่านทาง URL ที่กำหนดไว้ได้เช่นกัน
5.Cisco Unified Communication Manager (CUCM) บางครั้งเราเรียกว่า Cisco CallManager เป็นอุปกรณ์ที่เป็นหัวใจหลักสำคัญเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นตัวกำหนดค่าของการประชุมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Endpoint, เบอร์โทร, การทำ SIP Trunk ไปยังอุปกรณ์ Video Server ต่าง ๆ, การกำหนดค่าการโทร, Policy ในการโทรไปประชุมที่ต่าง ๆ, ทำการติดต่อกับ Voice Gateway เพื่อเป็นเส้นทางออกไปยัง PSTN ข้างนอกได้ เป็นต้น
6.Expressway-C และ Expressway-E เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เป็น Gateway ที่เชื่อมออกผ่านทาง Internet หากเป็นเมื่อก่อน เวลาผู้ใช้งานที่อยู่ภายนอกองค์กรต้องการที่จะได้เบอร์ภายในองค์กรผ่านทาง Softphone ก็จะต้องทำการ VPN เข้ามาก่อน เพื่อให้ Client เสมือนเป็นเครื่องหนึ่งในองค์กรของเรา และให้ Softphone ทำการชี้ TFTP ไปที่ Cisco CUCM เพื่อจะได้รับเบอร์ภายใน (Extension Number) และสามารถ Video Call ไปเบอร์ภายในกันเองได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการโทรศัพท์เพิ่มเติม การมาของ Expressway จะช่วยในเรื่องของการเป็นอุปกรณ์ Firewall ในตัว และ Client เองไม่จำเป็นต้อง VPN กลับไปที่ HQ (Head Quarter) อีกต่อไปแล้ว ทำให้สะดวกในการใช้งานมากยิ่งขึ้น โดยที่ตัว Expressway-C (Expressway-Core) จะทำการคุยกับ CUCM ผ่านทาง SIP Trunk และ Expressway-C จะไปคุยกับ Expressway-E (Expressway Edge) อีกทีนึงเพื่อให้ Expressway-E ทำการเชื่อมต่อกับ Domain ภายนอก และอนุญาตให้ Client ภายนอก ติดต่อเข้ามาได้ผ่านทาง Username/Password ที่เรากำหนดให้กับ User แต่ละคนใน CUCM หรือพูดในอีกลักษณะหนึ่งก็คือ เราจะไม่อนุญาตให้อุปกรณ์ภายนอกเข้าถึงและมา Register CUCM ของเราตรง ๆ เพื่อได้เบอร์โทรศัพท์ภายในไป แต่ถ้าจะเข้ามาได้ต้องผ่าน รปภ. ชื่อ Expressway-E และ Expressway-C ก่อนเท่านั้น
7.Voice Gateway เป็นอุปกรณ์เราเตอร์ของ Cisco นั่นเองทำหน้าที่ในการติดต่อกับทาง PSTN เพื่อให้อุปกรณ์ Endpoint ภายในองค์กรสามารถโทรออกไปยังเบอร์ปลายทางผ่านทางโครงข่าย PSTN ได้เช่นเบอร์โทรศัพท์มือถือ, เบอร์ในจังหวัดเดียวกัน, เบอร์ต่างประเทศ เป็นต้น โดยที่ Voice Gateway จะต้องทำการเชื่อมต่อกลับมายัง CUCM ผ่านทาง MGCP หรือ H.323 หรือ SIP Protocol ได้
ทั้งหมดนี้คืออุปกรณ์ TelePresence Solution ของทาง Cisco ที่ผ่านมา หลังจากนั้นเองทาง Cisco ก็ต้องการขยายตลาด Collaboration ให้มากขึ้นเพื่อรองรับการเติบโต และการสื่อสารในยุค Digital โดยในเดือนพฤศจิกายนปี 2015 Cisco ได้ทำการซื้อกิจการบริษัท Acano ซึ่งทีมเป็นทีม MCU Codian เดิมของ Tandberg ที่ได้ออกไปพัฒนาและทำ Acano ขึ้นมาใหม่นั่นเอง Acano เป็น Collaboration Conferencing Software รวมไปถึง Gateway, Video และ Audio Bridging Technology ความสามารถของ Acano ที่สำคัญก็คือ สามารถติดต่อสื่อสารกับระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ของผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้ (Integrate with 3’rd party) ทั้งแบบ Cloud และ Hybrid เช่น สามารถ Video Call กับทาง Skype, Microsoft Lync ได้ การซื้อกิจการ Acano ของ Cisco ในครั้งนี้ทำให้ Cisco ได้กลยุทธในการทำงานของ Collaboration ที่สามารถให้ทางลูกค้ามีประสบการณ์ในการติดต่อสื่อสารกันทุก ๆ ที่ ในทุก ๆ อุปกรณ์ปลายทาง (Endpoint), ทุก ๆ วิดีโอสกรีน (Screen), ทุก ๆ พื้นที่การทำงาน (Workspace) และทุก ๆ ผู้ใช้งาน (User) ไม่ว่าจะใช้ Application อะไรก็ตาม ไม่จำกัดเรื่องของ Protocol อีกต่อไป (SIP, H.323) ขอเพียงแค่มี browser ในการเชื่อมต่อ (Just a meeting) ผ่านทาง WebRTC browse เข้ามายัง Acano ก็ได้เลย
ปัจจุบัน Acano นี่เอง Cisco ได้ทำการเปลี่ยนชื่อเป็น Cisco Meeting Server (CMS) โดยผู้ที่จะทำการติดตั้งระบบนี้จะต้องผ่าน CMS Certification จากทาง Cisco ด้วย เพื่อให้สามารถใช้งานเกิดประโยชน์สูงสุดกับทางผู้ใช้งานนั่นเอง
บทความนี้เป็นประโยชน์สำหรับทาง Sale, Presale ที่กำลังเสนอ Video Conference Solution ให้กับทางลูกค้า รวมไปถึงผู้ใช้งานที่จะได้มีความเข้าใจในอุปกรณ์ต่าง ๆ ของ Cisco ด้วยนะครับ ฉบับหน้า ผมจะมาพูดถึง Step ในการ Implement CMS ให้นะครับ จะเป็นประโยชน์สำหรับทาง Collaboration Engineer โดยเฉพาะเลยครับ